top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนSompong Srakaew

LPN รับรางวัลด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาดีเด่นแห่งอาเซียน

เขียนโดย สมพงค์ สระแก้ว



ประชากรอาเซียนต้องเพิ่มและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีจากนโยบายสังคมและสวัสดิการที่ดีที่เกิดจากทุกคนมีส่วนร่วมผลักดันและตัดสินใจร่วมกันของประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน เราจะยืนหยัดไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดความยั่งยืนในทุกๆ มิติ และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด นี้คือฝันที่ผมอยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้า

เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา LPN ได้รับรางวัลด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาดีเด่นแห่งอาเซียน (ASEAN Outstanding Social Welfare and Development Awards: AOSWADA) ของประเทศไทย ประจำปี 2564 โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการประชุม THE SEVENTEENTH ASEAN SENIOR OFFICIALS MEETING ON SOCIAL WELFARE AND DEVELOPMENT (17th SOMSWD)


มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labour Protection Network (LPN) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) ในประเทศไทย เป็นองค์กรด้านแรงงานที่มุ่งมั่นส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุ้มครองสิทธิ ความเสมอภาค การพึ่งตนเอง และสรรค์สร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ และกำลังต่อสู้เพื่อหยุดยั้ง โศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่มีอยู่เบื้องหลังอาหารทะเลที่ไม่ยั่งยืน


ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี มูลนิธิ LPN มีความมุ่งมั่นด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ให้กลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องชาวเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่อพยพย้ายถิ่นมาทำงานและพักอาศัยในประเทศไทย ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน การคุ้มครองทางสังคม การปกป้องคุ้มครองสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และสามารถย้ายถิ่นระหว่างต้นทางและปลายทางได้อย่างปลอดภัย


ในการทำงานเชิงปฏิบัติการ เรามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาผู้ประสบปัญหาซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางพิเศษ ผู้ที่เข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิ ผู้ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ผู้เป็นแรงงานที่ถูกกดขี่ กดทับ ไม่ได้ความเป็นธรรมจากการทำงาน ผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ด้านแรงงานจำนวนมาก และร่วมยกระดับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศไทย กับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจในไทยและต่างประเทศ


ปัจจุบันรัฐบาลไทยเห็นความสำคัญต่อ การยกระดับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศไทย และ LPN ได้ประสานความร่วมมือในทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ การถูกละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายกับองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐของประเทศต้นทาง เมียนมา ลาว และกัมพูชา





การทำงานภายใต้วิสัยทัศน์องค์กร


ระดับท้องถิ่น

เราร่วมมือกับท้องถิ่นจังหวัดที่มีกลุ่มประชากรข้ามชาติที่เป็นเด็กและเยาวชน ในการปกป้องคุ้มครองทางสังคมเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงต่อการคุกคามในชีวิต ร่างกายจิตใจ การได้รับโอกาสทางการศึกษาในระบบการศึกษาของรัฐไทย


และดำเนินการให้การช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ทะเล และปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากปัญหาการค้าแรงงานมนุษย์


รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ ความสามารถ พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน


นอกจากนั้น หัวใจสำคัญของการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ คือ การเข้าถึงการช่วยเหลือคุ้มครอง เยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ถูกเป็นแรงงานบังคับ หรือผู้รอดชีวิตจากการค้าแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทยและข้ามชาติ


ระดับประเทศ

เราทำงานเชิงประสานความร่วมมือร่วมกับรัฐบาลไทย ในการส่งแสริมการบังคับใช้กฎหมาย และการประมงของประเทศเพื่อการพัฒนาสภาพเงื่อนไขการทำงานของแรงงานให้ดีขึ้น


เราเป็นผู้นำแนวคิดและให้แนวทางปฏิบัติทางนโยบายแก่เครือข่ายระดับประเทศทั้งภาครัฐ ทั้งองค์กรภาคธุรกิจ รวมไปถึงวิธีการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศไทย และการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในการทำงานของเครือข่ายในฐานะผู้นำในภูมิภาค


ระดับนานาชาติ

เรากำลังพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรภาคประสังคมในประเทศ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และในยุโรป อเมริกา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทูตแรงงาน นักการทูต โดยเฉพาะรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมถึงองค์กรและสื่อนานาชาติเพื่อเป็นกระบอกเสียงเพื่อความเป็นธรรมให้กับแรงงานประมง


เครือข่ายในระดับนานาชาติมองเราในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านตลาดอาหารทะเลที่ช่วยให้การทำงานเพื่อส่งเสริมให้ห่วงโซ่อุปทานปราศจากแรงงานทาสประสบความสำเร็จ




ดู 15 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page