top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนLPN foundation

ข้อเสนอต่อแนวทางการคุ้มครองเด็กในสถานสงเคราะห์ของประเทศไทย



จากการประชุมระหว่างตัวแทนของภาคประชาชนและตัวแทนของภาครัฐเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ในงานเวทีสานเสวนา "แลกเปลี่ยนองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยสถานรองรับเด็ก สำหรับกลุ่มเด็กเข้าไม่ถึงโอกาสและเปราะบางพิเศษ :รูปแบบที่เหมาะสมและเป็นจริงในสังคมไทย" ทางที่ประชุมได้ข้อสรุปและข้อเสนอต่อแนวทางการคุ้มครองเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ทั้งเอกชนและรัฐบาลเพื่อช่วยสร้างสถานรองรับเด็กกลุ่มเปราะบางพิเศษกับรูปแบบการปกป้องคุ้มครองเด็กที่เหมาะสมกับสถานการณ์และสังคมไทย


โดยข้อสรุปที่ได้มานั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบไปด้วย ข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ ประเด็นข้อท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง/ผลลัพธ์ที่คาดหวัง


1. ข้อมูลพื้นฐาน

การสำรวจขององค์การกองทุนเด็กระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UNICEF) ซึ่งได้ทำการสำรวจในปี พ.ศ. 2562 ชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยเด็กประมาณ 1 ใน 5 (ประเมาณร้อยละ 22) ที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้าในปี พ.ศ. 2558 โดยในบรรดาเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่นั้นร้อยละ 37 มาจากครัวเรือนที่ยากจน (องค์การยูนิเซฟ, 2564) ขณะเดียวกันข้อมูลจากฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสส.) (2561) ได้ฉายให้เห็นภาพรวมความปัจจัยที่ทำให้เด็กต้องกลายเป็น “เด็กด้อยโอกาส” เช่น ความยากจน ความกำพร้า สัญชาติ เด็กเร่ร่อน เด็กที่ถูกบังคับให้ขายแรงงาน เด็กที่อยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศ โดยในปี พ.ศ. 2561 มีเด็กนักเรียนด้อยโอกาสทั้งสิ้น 3,598,125 คน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์

เมื่อพิจารณาสถานการณ์เกี่ยวกับสถานสงเคราะห์เด็กในปัจจุบันจะพบว่าสถานสงเคราะห์ทั้งที่บริหารจัดการโดยรัฐ และบริหารจัดการโดยภาคเอกชน โดยปัจจุบันมีสถานสงเคราะห์เด็กที่หน่วยงาน คือ กรมกิจการเด็กและเยาวชนกำกับดูแลทั้งสิ้น 30 (แห่ง)

ขณะเดียวกันก็มีสถานสงเคราะห์เด็กที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนในหลายรูปแบบ เช่น สถานสงเคราะห์ที่ดำเนินการโดยองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรในรูปแบบศาสนาสถาน จำนวน 121 แห่ง แจ้งจดทะเบียนกับกรมกิจการเด็ก และมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้แจ้งจดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าถึงจำนวนสถานสงเคราะห์ภาคเอกชนที่แท้จริงที่ช่วยเหลือเด็กในประเทศไทย ทั้งยังมีข้อมูลสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนจำนวนกว่า 1,257 แห่ง จากการสำรวจของมูลนิธิ One Sky (2561) ได้นำเสนอให้เห็นว่ามีสถานสงเคราะห์เอกชนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ และตั้งคำถามถึงมาตรฐานการคุ้มครองเด็กของสถานสงเคราะห์เด็กเหล่านั้น เช่น การเปิดเผยหน้าและข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก ประกอบกับเหตุการณ์ที่ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์เด็กที่บริหารโดยองค์กรภาคประชาสังคมทำร้ายเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ที่เป็นข่าว ก็ยิ่งนำมาสู่คำถามเกี่ยวกับมาตรฐานและวิธีการดูแลสถานสงเคราะห์ภาคเอกชนในประเทศไทยที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนเป็นผู้กำกับดูแล ขณะเดียวกันการบริหารจัดการสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐก็ได้มีได้ราบรื่นปราศจากอุปสรรคใด ๆ ตัวอย่างงานศึกษาของกมลชนก และณัฐวุฒิ (2565) ได้ชี้ให้เห็นปัญหาในเชิงการบริหารจัดการสถานสงเคราะห์เด็กโดยรัฐในหลากหลายมิติ เช่น การรักษาและพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติ วิธีการดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ ซึ่งควรต้องมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์เห็นคุณค่าในตนเอง

จากงานศึกษาจะเห็นว่า ในเชิงการบริหารจัดการสถานสงเคราะห์เด็กทั้งโดยภาครัฐและเอกชนต่างเผชิญกับปัญหาในเชิงการบริหารจัดการ และเผชิญกับข้อจำกัดและข้อท้าทายในการทำงาน ดังนั้น มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network : LPN) จึงได้จัดเวลาทีเสวนาเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยสถานรองรับเด็ก สำหรับกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสและเปราะบางพิเศษที่เหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อสะท้อนปัญหาและข้อท้าทายของหน่วยงานผู้ปฏิบัติ โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเด็กผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์ ซึ่งช่วยสะท้อนความต้องการ ข้อท้าทาย และข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการสถานสงเคราะห์เด็กในประเทศไทยที่ตอบสนองต่อประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้งได้อย่างแท้จริง





2. ข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ

2.1 การพัฒนากลไกและเครือข่ายเชิงป้องกัน (Prevention) เพื่อคุ้มครองเด็ก

2.1.1 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรวางแนวทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาเครือข่ายคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน และการเสริมสร้างทักษะในการดูแลเด็กให้กับประชาชนในชุมชน รวมทั้งกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในกรณีพบเด็กกลุ่มเปราะบางเพื่อดูแลเด็ก อาทิ กลุ่มเด็กเร่ร่อน รวมทั้งกลไกการประสานส่งต่อในกรณีพบเด็กกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยา และข้อมูลของเด็กเปราะบางในชุมชน Relief nursery ที่ควรมีไว้เพื่อเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น แม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว พ่อแม่วัยใส พ่อแม่ติดยา เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยปู่ยาตายาย ไว้ฝากดูแลลูกเป็นครั้งคราว เพื่อให้พ่อแม่ได้พัก ไม่เครียดจนทำร้ายลูก

2.1.2 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขควรบูรณาการกลไกอาสาสมัครในระดับพื้นที่ อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อวางแนวทางการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน และแนวทางการประสานส่งต่อเมื่อพบเด็กเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

2.1.3 กระทรวงมหาดไทยควรกำหนดให้การดูแลเด็กในพื้นที่ชายแดนเป็นประเด็นการพัฒนาที่ควรกำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชายแดน และควรร่วมมือกับประเทศต้นทางเพื่อพัฒนาแนวทางการดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชายแดนอย่างเป็นรูปธรรม

2.2 การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการบริหารจัดการสถานสงเคราะห์เด็กที่มีประสิทธิภาพและยึดประโยชน์ของเด็กเป็นศูนย์กลาง

2.2.1 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนควรพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์เด็กและเยาวชน รวมทั้งจำนวนเด็กในสถานสงเคราะห์ และกำหนดให้ชุดข้อมูลดังกล่าวเป็นชุดข้อมูลสำคัญที่ต้องเปิดเผยให้กับประชาชนทั่วไปให้สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้ ควรกำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการของกรม

2.2.2 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนควรพัฒนามาตรฐานและแนวทางการบริหารจัดการ และการติดตามและตรวจสอบ โดยเปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Meaningful Participation) ในการออกแบบมาตรฐานและแนวทางดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขและความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และยึดประโยชน์ของเด็กเป็นศูนย์กลาง

2.2.3 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณ ควรร่วมกันพัฒนาแนวทางการสร้างความร่วมมือภาครัฐและภาคประชาสังคมในการจัดทำงานบริการสาธารณะด้านสังคม โดยให้งานสถานสงเคราะห์เป็นต้นแบบ ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวควรครอบคลุมมิติด้านประเภท รูปแบบ มาตรฐานงานบริการ (Service Level Agreement: SLA) งบประมาณ และการติดตามและประเมินผล รวมทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์


2.3 การพัฒนาบุคลากรผู้ดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์

2.3.1 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ควรวางแนวทางการพัฒนาทักษะบุคลากรผู้ดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาเครื่องมือและแนวทางการในการดูแลเด็กที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ รวมทั้งสนับสนุนการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในสถานสงเคราะห์ทั้งที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานของรัฐ หรือของภาคส่วนอื่น ๆ

2.3.2 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ควรออกแบบแนวทางการประเมินความพร้อมและสุขภาวะทางจิตของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์ รวมทั้งแนวทางในการพักฟื้น (Retreat) สำหรับบุคลากรผู้ประสบภาวะหมดไฟ เพื่อให้สามารถกลับเข้าไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ





3. ประเด็นข้อท้าทาย

3.1 มาตรฐานการดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์เด็ก: สถานสงเคราะห์ในประเทศไทยได้รับการบริหารในหลากหลายรูปแบบ เช่น สถานสงเคราะห์ซึ่งบริหารโดยภาคเอกชน สถานสงเคราะห์โดยหน่วยงานของรัฐ และสถานสงเคราะห์ซึ่งดูแลโดยองค์กรด้านศาสนา เป็นต้น ซึ่งสถานสงเคราะห์เหล่านี้ล้วนแต่มีวิธีการในการดูแลเด็กที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแนวความคิดในการดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการกลางขั้นต่ำ (Minimum Requirements) ในการดูแลเด็ก อาทิ หลักการการคุ้มครองเด็ก (Child Protection) หลักการการพัฒนาตามช่วงวัยและเสริมพลังอำนาจ (Empower) ให้กับเด็กในสถานสงเคราะห์ และนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวที่เปิดโอกาสให้เด็กและผู้มีส่วนได้เสียในการดูแลเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานและกติการ่วมกัน

3.2 ความไม่ชัดเจนในการเปิดพื้นที่เพื่อให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก: ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรของภาครัฐ อาทิ ความเพียงพอของสถานที่และบุคลากร ที่รัฐไม่สามารถดูแลเด็กที่จำเป็นต้องเข้าสู่สถานสงเคราะห์ได้อย่างทั่วถึง การเปิดพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐให้ภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งก็สอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการที่ภาครัฐจะต้องเป็น “ภาครัฐที่เปิด” (Open Government) มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางและวิธีการที่ให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กเหล่านั้น อันตามมาซึ่งประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบการส่งต่อเด็ก งบประมาณ ระบบการติดตามและประเมินผล รวมทั้งบทบาทของภาคีเครือข่ายในแต่ละกลุ่มยังเป็นภาพที่ยังขาดความชัดเจน นำมาซึ่งภาวะคุมเครือในเชิงการทำงานร่วมกันและบางครั้งนำมาสู่ภาระเชิงงบประมาณต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

3.3 ฐานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเด็กในสถานสงเคราะห์และสถานสงเคราะห์เด็กที่เปิดเผยและเข้าถึงได้: ข้อมูลเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ การบริหาร และการออกนโยบาย แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะได้มีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และข้อมูลดังกล่าวต้องสามารถเข้าถึงได้โดยข้อมูลโดยทั่วไป ภายใต้มาตรฐานของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ฐานข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้เป็นการทั่วไป

3.4 ผู้ดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์: การดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์นั้นไม่ได้ครอบคลุมเพียงการให้ปัจจัย 4 นั้นแต่ต้องคำนึงถึงมิติด้านพัฒนาการเด็ก และการเสริมพลังอำนาจให้เด็ก โดยคำนึงถึงภูมิหลังของเด็กประกอบด้วย เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ผู้ดูแลเด็กต้องมีเครื่องมือในการทำงานร่วมกับเด็กที่หลากหลาย เช่น การสานเสวนา กิจกรรมกลุ่ม และศิลปะบำบัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลักการแนวคิดดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับความเชื่อในการดูและเด็กของผู้ดูแลเด็กบางส่วน ที่ยังคงเชื่อว่าการตีและการดุด่าเป็นวิธีการที่จำเป็นในการดูแลเด็ก ประกอบกับการบริหารจัดการบุคลากรผู้ดูแลเด็ก ซึ่งครอบคลุมถึงช่วงเวลาของการพัก (Retreat) เพื่อให้ผู้ดูแลพร้อมในการดูแลเด็ก

3.5 ระบบการติดตามและประเมินผลสถานสงเคราะห์:แม้ว่าปัจจุบันจะมีระบบการตรวจสอบสถานสงเคราะห์ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่มักเป็นการตรวจสอบเมื่อเกิดประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดของหน่วยงานของรัฐ เช่น จำนวนบุคลากร เงื่อนไขดังกล่าวทำให้หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องปรับวิธีการในการติดตามและประเมินในลักษณะเชิงป้องกัน (Prevention) และเปิดให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาส่วนในการร่วมตรวจสอบยิ่งขึ้น





4. การเปลี่ยนแปลง/ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

4.1 ระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์เด็ก/จำนวนเด็กในสถานสงเคราะห์: ประเทศไทยควรมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสถานสงเคราะห์ ประกอบด้วยผู้รับผิดชอบ และสถานที่ติดต่อ รวมทั้งข้อมูลจำนวนเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ โดยเป็นข้อมูลที่แบ่งตามเพศ และช่วงวัย เพื่อการประสานส่งต่อ การศึกษาวิจัย และการวางแผนเพื่อการบริหารจัดอย่าง ทั้งนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวต้องเปิดเผยให้สามารถเปิดเผยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องร้องขออย่างสอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4.2 มาตรฐานสถานสงเคราะห์เด็กและระบบการติดตามและตรวจสอบซึ่งพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม: ประเทศไทยควรมีมาตรฐานสำหรับสถานสงเคราะห์เด็ก ซึ่งจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Requirements) สำหรับสถานสงเคราะห์ทุกแห่ง ทั้งนี้ ในการออกแบบและพัฒนามาตรฐานจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (Meaningful Participation) ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมทั้ง ร่วมออกแบบระบบการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรฐาน โดยเน้นการติดตามและตรวจสอบในเชิงป้องกัน (Prevention) และการร่วมตรวจสอบซึ่งกันและกัน (Peer-to-peer Monitoring)

4.3 ระบบการคัดเลือกและฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์: ประเทศไทยควรมีระบบการคัดเลือกและพัฒนาทักษะของบุคลากรผู้ดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ โดยบุคลากรต้องได้รับการประเมินสุขภาพจิต และได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นวิชาชีพเกี่ยวกับการดูแลและติดตามเด็กในสถานสงเคราะห์ทั้งก่อนเริ่มการทำงาน และเมื่อปฏิบัติงานเป็นระยะ

4.4 แนวทางการสร้างความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมสำหรับการส่งมอบงานบริการสาธารณะที่ชัดเจน: แม้ว่าปัจจุบันจะมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินกิจกรรม และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ แต่แนวทางความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อส่งมอบงานบริการสาธารณะในเชิงยังขาดความชัดเจนในเชิงแนวทาง บทบาท และการสนับสนุนงบประมาณ ดังนั้น ควรมีการกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อส่งมอบงานบริการสาธารณที่ชัดเจน ที่ครอบคลุมถึงบทบาทแต่ละฝ่าย มาตรฐานงานบริการ (Service Level Agreement: SLA) และงบประมาณที่ชัดเจน



 

เอกสารอ้างอิง

One Sky Foundation (2561) วิกฤตที่มองไม่เห็น: เมื่อสถานสงเคราะห์เด็กจำนวนมากอยู่นอกกฎหมาย. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก https://alternativecarethailand.com/wp-content/uploads/2019/03/A-Hidden-Crisis-Thai.pdf

UNICEF (2562) ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ : ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก https://www.unicef.org/thailand/media/6731/file/Addressing%20the%20Gap%20(MICS6)%20TH.pdf

กมลชนก ขำสุวรรณ และณัฐวุฒิ กกกระโทก (2565) จุดเปลี่ยนการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนของสถานสงเคราะห์นำร่องออกสู่สังคม : ข้อค้นพบจากการติดตามและประเมินผล. วารสารราชพฤกษ์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 3 (กันยายน - ธันวาคม 2565) หน้า 1-14

กสส. (2561) ข้อมูลจำนวนเด็กด้อยโอกาส/เด็กพิการ. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก https://isee.eef.or.th/screen/disabled/disabled.html






ดู 58 ครั้ง0 ความคิดเห็น

留言


bottom of page