top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนsicha rungrojtanakul

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเปิดศูนย์พักพิงฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอบรมลูกเรือประมง

อัปเดตเมื่อ 4 ก.ย. 2565

เขียนและภาพโดย ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย เป็นประธานในพิธีส่งมอบอาคารศูนย์พักพิงฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอบรมผู้ประสบปัญหาด้านแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ (L-TReC) จ.ปทุมธานี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์พักพิงฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอบรมผู้ประสบปัญหาด้านแรงงาน รวมถึงเป็นศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ปัญหาแรงงาน ภายใต้โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์จากรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ “Project for Constructing Accommodation and Rehabilitation Center to Protect from Human Trafficking and Forced Labor in Pathumthanee Province” โดยมีนายเอกวิทย์ มีเพียร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายขัตติยะ แพนเดช ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ประธานกรรมการมูลนิธิ LPN นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN นางสาวปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ LPN ร่วมให้การต้อนรับ







โดยอาคารศูนย์พักพิงฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอบรมผู้ประสบปัญหาด้านแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ (L-TReC) ซึ่งได้รับความช่วยเหลือและอนุเคราะห์สนับสนุนเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาทเพื่อดำเนินการก่อสร้าง เมื่อปี 2560 จนแล้วเสร็จ และได้รับความช่วยเหลือและอนุเคราะห์สนับสนุนงานออกแบบทั้งหมดจากคณาจารย์และนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวอาคาร 2 ชั้นประกอบไปด้วยสำนักงานมูลนิธิ LPN อาคารพักอาศัย ศูนย์ฝึกอบรมด้านอาชีพและร้านค้า มีพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวาง โล่งโปร่ง ทั้งยังแวดล้อมไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจี จึงทำให้ที่แห่งนี้เหมาะสมแก่การเป็นที่พักอาศัยของเหล่าแรงงานไทยและข้ามชาติ



ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ทีมงานมูลนิธิ LPN ได้เดินทางได้ยังอินโดนีเซียหลายครั้ง โดยเฉพาะเกาะเล็ก ๆ ที่ห่างไกลอย่าง อัมบน มาลูกู เบนจิน่าและตวล เพื่อตอบสนองต่อการขอความช่วยเหลือจากคนงานบนเรือประมงไทยที่ติดอยู่ในน่านน้ำอินโดนีเซีย จนกระทั่งกลับมายังประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย จากปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว ทำให้ทีมงานมูลนิธิ LPN ได้ทราบปัญหาและความต้องการของแรงงานไทยและข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงไทย จึงเป็นที่มาของความจำเป็นในการสร้างศูนย์พักพิงฟื้นฟูเยียวยาและฝึกอบรมผู้ประสบปัญหาด้านแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ (L-TReC) จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการให้โอกาสพวกเขาได้ปรับตัวเพื่อมีชีวิตใหม่อีกครั้ง มีที่พักชั่วคราวเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะอาชีพและฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพื่อให้สามารถเข้าไปอยู่ร่วมในสังคมได้ และไม่ย้อนกลับไปเป็นเหยื่อซ้ำในเรือประมงเพราะขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพ


นี่คือเสียงจากอดีตแรงงานประมงที่ได้รับการช่วยเหลือจาก LPN และได้พักอาศัยในศูนย์พักพิงแห่งนี้


“อยู่บนเรือตั้งหลายปี พอได้กลับมาก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ที่นี่ มีอาหารให้กิน มีเตียงให้นอน”

- สมชาย, อายุ 52 ปี อดีตลูกเรือประมงจากจังหวัดฉะเชิงเทรา


“ใจเราอยากจะได้เงินค่าจ้าง ที่เค้า (นายจ้าง) ค้างอยู่มันก็เยอะเหมือนกัน LPN เขาก็พาไปทำเรื่อง”

“ถ้ามีทุนซักก้อนเราก็อยากไปเริ่มชีวิตใหม่” - ไก่, อายุ 54 อดีตลูกเรือประมงจากจังหวัดนครราชสีมา


“อยากขอบคุณ LPN ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำให้เรา”

“ตอนแรกที่ LPN ติดต่อไปที่บ้าน เมียก็ตกใจว่าเรายังมีชีวิตอยู่อีกหรอ เราอยู่ที่นี่ 1 เดือนแล้วทาง LPN ก็พาไปส่งบ้าน” - หนุ่ม, อายุ 38 อดีตลูกเรือประมงจากจังหวัดสมุทรปราการ


*เราได้เปลี่ยนชื่อผู้เสียหายทั้งหมดเพื่อปกปิดอัตลักษณ์ของพวกเขา




แรงงานในอุตสาหกรรมประมงทะเลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักที่จำเป็นต้องมีที่พักพิง และสถานที่ฟื้นฟูเยียวยา เพราะพวกเขาถึงแม้กลับมาที่ประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้ เนื่องจากการถูกกระทำอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ การถูกทิ้งไว้ในเกาะเป็นเวลานาน ทำให้สูญเสียโอกาสและทักษะอาชีพในการทำงาน บางคนป่วย ทุพพลภาพ กลับมาแล้วไม่มีบ้าน ไม่มีที่ปลอดภัยที่เข้าใจและเชื่อใจว่าพวกเขายังมีคุณค่าและต้องการโอกาสในการทำงานและอยู่ร่วมในสังคมอีกครั้ง


มากกว่าการช่วยเหลือแรงงานไทยและข้ามชาติให้ปรับตัวเพื่อมีชีวิตใหม่ในสังคมไทย ทางมูลนิธิ LPN ยังมุ่งหมายให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานไทยและข้ามชาติเป็นพื้นที่พบปะสร้างเครือข่ายสำหรับแรงงานไทย-ข้ามชาติ ตลอดจนผู้ที่สนใจในประเด็นแรงงาน






ดู 38 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page